ผลสำรวจวันเด็ก 63 “เด็กไทยยุคใหม่ รู้รักสามัคคี รู้หน้าที่พลเมืองไทย”

ผลสำรวจวันเด็ก 63 “เด็กไทยยุคใหม่ รู้รักสามัคคี รู้หน้าที่พลเมืองไทย”

วันเด็กปี 2563 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้คำขวัญวันเด็กแห่งชาติประจำปีนี้ไว้ว่า “เด็กไทยยุคใหม่ รู้รักสามัคคี รู้หน้าที่พลเมืองไทย” ศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็กและเยาวชนจึงได้สำรวจความคิดเห็นของเด็ก เยาวชน และคนทั่วไปเกี่ยวกับคำขวัญวันเด็กในปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2563 – วันที่ 8 มกราคม 2563 โดยมีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นจำนวน 349 คน เป็นเพศหญิง 68.5% เพศชาย 29.2 % ไม่ระบุเพศ 2.3% อยู่ในช่วงอายุต่ำกว่า 18-24 ปี (กลุ่มเยาวชน) 74.5% ต่ำกว่า 18 ปี (เด็ก) 18.3 % และ 24 ปีขึ้นไป (ผู้ใหญ่) 7.2% โดยสอบถามความคิดเห็นใน 6 ประเด็นหลัก คือ

  1. เด็กไทยยุคใหม่ มีลักษณะแบบไหน พบว่าชุดคำซ้ำที่ปรากฏ ได้แก่ กล้าแสดงออก (28 ครั้ง) กล้าคิด (24 ครั้ง) กล้าทำ (15 ครั้ง) ติดโทรศัพท์ (13 ครั้ง)

  2. ในมุมมองของท่านคำว่า “รู้รักสามัคคี” หมายถึงอะไร พบว่าชุดคำซ้ำที่ปรากฏ ได้แก่ สามัคคีกัน (111 ครั้ง) ช่วยเหลือกัน (70 ครั้ง) ไม่ทะเลาะกัน (12 ครั้ง)

  3. “พลเมืองดี” หมายความว่าอย่างไร พบว่าชุดคำซ้ำที่ปรากฏ ได้แก่ เป็นคนดี (44 ครั้ง) มีน้ำใจ (10 ครั้ง) ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน (4 ครั้ง)

  4. “พลเมืองดี” ต้องมีพฤติกรรมอย่างไร พบว่าชุดคำซ้ำที่ปรากฏ ได้แก่ ช่วยเหลือผู้อื่น (68 ครั้ง) เคารพ/ปฏิบัติตามกฎหมาย (49 ครั้ง) เป็นคนดี (26 ครั้ง)

  5. พลเมืองไทย มีหน้าที่อะไรบ้าง (ยกตัวอย่าง 3 ตัวอย่าง) พบว่าชุดคำซ้ำที่ปรากฏ ได้แก่เคารพ/ปฏิบัติตามกฎหมาย (76 ครั้ง) รักชาติ (51) ศาสนา (33) พระมหากษัตริย์ (26 ครั้ง) ช่วยเหลือผู้อื่น (19 ครั้ง) เสียภาษี ซื่อสัตย์ (10 ครั้ง)

  6. โปรดยกตัวอย่างพฤติกรรมของท่านที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นพลเมืองไทย (1 ตัวอย่าง) พบว่าชุดคำซ้ำที่ปรากฏ ได้แก่ เคารพกฎหมาย (10 ครั้ง) รักชาติ (9 ครั้ง) เป็นคนดี เคารพธงชาติ (8 ครั้ง)

จากผลการสำรวจความคิดเห็นสะท้อนการให้วิธีการให้ความหมายกับชุดคำต่าง ๆ ของผู้ตอบแบบสอบถาม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเยาวชน (อายุ 18-24 ปี) เช่น การให้คุณลักษณะขอเด็กยุคใหม่ มีทั้งรูปแบบการวิเคราะห์คุณลักษณะด้านบวกและลบ ด้านบวก เช่น กล้าแสดงออก กล้าคิด กล้าทำกล้าพูด เท่าทันโลก มีความมั่นใจ ฯลฯ ในขณะเดียวกัน คุณลักษณะด้านลบ เช่น ติดโทรศัพท์ ติดโซเชียลมีเดีย ตื่นสาย ขี้เกียจ เป็นต้น

เมื่อถามถึงความหมายของคำว่า “รู้รักสามัคคี” รูปแบบคำตอบยังมีการให้คำอธิบายที่ซ้ำซ้อนกับคำถาม เช่น “รู้รักสามัคคี คือ การสามัคคีกัน ช่วยเหลือกัน ไม่ทะเลาะกัน รักพวกพ้อง ปรองดอง” ซึ่งเมื่อพิจารณาความหมายของคำว่าสามัคคี สะท้อนให้เห็นว่าความเข้าใจของคำว่าสามัคคีนั้นส่วนใหญ่สอดคล้องกับความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ที่ว่า “สามัคคี หากเป็นคำนาม หมายถึงความพร้อมเพรียงกัน ความปรองดองกัน หากเป็นวลี หมายถึง ที่พร้อมเพรียงกันทำ ที่ร่วมมือร่วมใจกันทำ”

ในส่วนของคำว่าพลเมืองดีนั้น ให้ความหมายว่าคือสิ่งเดียวกันกับ “คนดี” “การให้ความช่วยเหลือ” “มีน้ำใจ” ซึ่งยังขาดมิติความเชื่อมโยงคำว่าพลเมืองกับความเป็นรัฐ และการเป็นพลเมืองภายใต้ระบอบการเมืองกาปกครองในระบอบประชาธิปไตย และเมื่อกล่าวถึงพลเมืองไทย ส่วนใหญ่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย กฎของสังคม เคารพสถาบันหลัก ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ระบุไว้ตามกฎหมายเป็นหลัก มากกว่าการมองเชื่อมโยงหน้าที่พลเมืองในฐานะผู้มีส่วนรับผิดชอบต่อการพัฒนาประเทศ การเคารพสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งอาจจะสะท้อนให้เห็นถึงวิธีการสร้างชุดความคิดให้กับคนรุ่นใหม่ผ่านช่องทางต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบการศึกษา สื่อต่าง ๆ ทั้งสื่อสารมวลชน และสื่อดิจิทัล ตลอดจนวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของคนในสังคมไทยที่อาจจะทำให้เกิดการบ่มเพาะชุดวิธีคิดแบบจำกัดกรอบให้กับคนรุ่นใหม่

Related Blogs

Posted by editor | September 6, 2024
ความช่วยเหลือที่หลากหลาย “ราชบุรี Zero Dropout”
สภาพปัญหาที่หลากหลายในพื้นที่ที่ทำให้เกิดเด็ก เยาวชนนอกระบบการศึกษา สามารถแก้ไขได้ด้วยการสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นกับบุคคล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง . ดังตัวอย่าง "ราชบุรี Zero Dropout" ที่มุ่งส่งเสริมให้เกิดความเข็มแข็งที่ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งการสร้างต้นแบบการช่วยเหลือดูแล กลไกความร่วมมือแบบบูรณาการทุกภาคส่วนในนามของสมัชชาการศึกษา นวัตกรรมการศึกษาที่หลายหลายและมีความยืดหยุ่น เหมาะสมกับบริบทและความต้องการของเด็ก เยาวชนนอกระบบการศึกษา รวมถึงภาคีเครือข่ายทั้งมิติการศึกษา มิติสุขภาวะ และมิติสวัสดิการ โดยมีเป้าหมายเดียวกัน คือ เด็ก เยาวชนนอกระบบการศึกษาสามารถกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้อย่างยั่งยืน
Posted by editor | September 6, 2024
“HEARTS model” : คุณลักษณะของผู้จัดการรายกรณี (case manager: CM)
ผู้จัดการรายกรณี (case manager: CM) เป็นบุคคลที่ทำหน้าที่หนุนเสริมโอกาสทางการศึกษาให้เด็ก เยาวชนนอกระบบการศึกษาได้ไปต่อในระบบการศึกษา หรือทางสายอาชีพ หรืออื่น ๆ ที่เด็กและเยาวชนพึงประสงค์ . แล้วคุณลักษณะของผู้จัดการรายกรณี (case manager: CM) ควรมีลักษณะแบบใด . คุณลักษณะที่ได้จากการถอดบทเรียนผ่านการสัมภาษณ์และการใช้เวลาร่วมกับ CM ในการดำเนินงาน ทำให้สามารถสรุปคุณลักษณะของผู้จัดการรายกรณีที่มีร่วมกัน เป็น “HEARTS model” และสิ่งสำคัญของคนทำงานในฐานะผู้จัดการรายกรณี คือ “การมีใจ” เป็นสิ่งสำคัญที่สุดภายใต้การทำงานของ CM